เปิดประวัติ Gucci ตำนานของโลกแฟชั่น จากอดีตจนถึงปัจจุบัน

เปิดประวัติ Gucci ตำนานของโลกแฟชั่น จากอดีตจนถึงปัจจุบัน

หากให้เอ่ยถึงแบรนด์แฟชั่น Hi-end ระดับโลกสัญชาติอิตาลี หนึ่งในนั้นจะต้องมีชื่อของ Gucci อยู่ด้วยอย่างแน่นอน ซึ่ง Gucci นั้นก็เรียกได้ว่าเป็นแบรนด์ที่เริ่มต้นมาจากแฟชั่นกระเป๋าหนังที่มีดีไซน์สวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและได้รับความนิยมมาอย่างยาวนานกว่า 100 ปี ซึ่งในปัจจุบันก็เรียกได้ว่าเป็นแบรนด์แฟชั่นชั้นนำของโลกที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งในวันนี้เราก็จะพาทุกท่านมาร่วมย้อนรอยเปิดประวัติความเป็นมาของแบรนด์ Gucci ตำนานของโลกแฟชั่น จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ไปด้วยกันค่ะ  

Guccio Gucci ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Gucci   

            จุดเริ่มต้นของแบรนด์ Gucci ก็มาจาก กุชชิโอ กุชชี่ (Guccio Gucci) นักธุรกิจชาวอิตาลีและนักออกแบบแฟชั่น โดย Guccio เกิดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม ปี ค.ศ. 1881 ณ เมือง Florence (ฟลอเรนซ์) ซึ่งตั้งอยู่ในทัสคานี ประเทศอิตาลี ซึ่งบิดาของ Guccio ก็เป็นช่างฝีมือทำเครื่องหนังในขณะนั้น และเมื่อ Guccio ได้เข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ก็ได้เข้ามาทำงานอยู่ที่กรุงลอนดอน โดยทำงานรับจ้างทั่วไปเท่าที่จะทำได้ไม่ว่าจะเป็นพนักงานล้างจาน เด็กเสิร์ฟ พนักงานบริการในลิฟท์ จนมาจบที่ตำแหน่งพนักงานยกกระเป๋าในโรงแรมซาวอย (Savoy) 

            การทำงานเป็นพนักงานยกกระเป๋าในโรงแรมนั้นก็ได้ทำให้เขามีโอกาสได้พบปะกับผู้คนที่มีความหลากหลายจากทั่วทุกมุมโลกโดยเฉพาะการได้เห็นกระเป๋าหลากหลายรูปแบบของแขกที่เข้ามาพักในโรงแรมโดยเฉพาะแขกที่เข้ามาพักในชั้นบนที่มีความหรูหรา นั่นจึงทำให้เขาได้รับแรงบันดาลใจและตัดสินใจลาออกจากงานที่ทำแล้วกลับไปยังบ้านเกิดที่ฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เพื่อเริ่มทำกระเป๋าเดินทางและเครื่องประดับ ซึ่งในช่วงแรกที่กลับบ้านเกิดนั้นเขาก็ได้ทำงานให้กับ ฟรานซิ (Franzi) เจ้าของบริษัทผลิตกระเป๋าเดินทางแบรนด์ Tony 

            หลังจากที่ได้ฝึกฝนฝีมือเกี่ยวกับการทำกระเป๋าจนมีความชำนาญได้พอสมควรแล้ว Guccio Gucci ก็ได้ตัดสินใจที่จะเปิดกิจการเป็นของตัวเองขึ้นในที่สุด โดยได้ทำการก่อตั้ง the House of Gucci ขึ้นครั้งแรก ใน ปี ค.ศ. 1921 ณ เมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี บ้านเกิดของเขานั่นเอง ซึ่งในช่วงแรกก็จะผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทอานม้า กระเป๋าหนัง และอุปกรณ์อื่น ๆ สำหรับนักขี่ม้า ซึ่งทุกชิ้นก็จะผลิตจากวัสดุหนังอิตาลีที่มีคุณภาพในระดับสูงสุด

เส้นทางของ Gucci

            หลังจากที่ได้ก่อตั้งกิจการ Gucci ขึ้นมาในปี ค.ศ. 1921 ต่อมาในปี ค.ศ. 1938 ก็ได้มีการขยายธุรกิจออกไปและได้เปิดสาขาที่ 2 ในกรุงโรม ซึ่งบริหารงานโดยลูกชายของเขานามว่า Aldo Gucci ซึ่งสินค้าภายใต้แบรนด์ Gucci นั้นก็ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องและเริ่มก้าวเข้าสู่ระดับโลกโดยได้รับความนิยมในกลุ่มชนชั้นสูงของอังกฤษที่ได้กลายมาเป็นแฟนตัวยงของแบรนด์อันเนื่องมาจากการออกแบบที่มีความสร้างสรรค์ทันสมัยรวมไปถึงการใช้แถบผ้าทอสีแดงและสีเขียวที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรายละเอียดของอานม้า จึงทำให้ใครเห็นก็รู้ได้ทันทีว่านี่คือแบรนด์ของ Gucci

และหลังจากที่ Guccio Gucci ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1953 กิจการก็ถูกสืบทอดต่อไปยังบรรดาลูกชายของเขา ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนรูปแบบของกิจการจากความตั้งใจเดิมของ Guccio Gucci ที่อยากให้ Gucci เป็นเพียงธุรกิจขนาดเล็กเท่านั้น เพราะหลังจากที่กิจการตกมาอยู่ในมือของรุ่นลูก Gucci ก็ได้ขยายกิจการไปยังประเทศต่างๆ พร้อมกับผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยมีสาขารวมแล้วทั้งหมด 13 สาขาไม่ว่าจะเป็น ที่ลอนดอน ปารีส และนิวยอร์ค และยังมี 46 ร้านแฟรนไซส์ทั่วโลกอีกด้วย

            ต้องบอกว่ากิจการเครื่องหนังของแบรนด์ Gucci ในช่วงกลางทศวรรษ 1930s นั้นเป็นไปได้ไม่ค่อยราบรื่นนัก สาเหตุก็เนื่องมาจากการคว่ำบาตรสินค้าเครื่องหนังที่มาจากอิตาลีซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศในแถบยุโรป และเป็นสาเหตุประการหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย ดังนั้น Gucci จึงได้แตกไลน์ธุรกิจไปยังอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งนั่นก็นำไปสู่การกำเนิดลวดลายอันเป็นสัญลักษณ์ของ Gucci เป็นครั้งแรก ก็คือลายข้าวหลามตัดที่มีมุมทั้ง 4 ด้านเป็นตัว G ทั้งหมด 2 ตัวต่อเนื่องเรียงสลับกันบนผืนผ้าใบสีน้ำตาลเข้ม ซึ่งในช่วงนั้นก็ได้รับการถักทอจากผ้าใยกัญชง (tan hemp fabric)

นอกจากนี้ก็ยังได้มีการถือกำเนิดกระเป๋า Iconic Bamboo Bag ของ Gucci ขึ้นมาใน ปี ค.ศ. 1947 อันเนื่องมาจากผลกระทบในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่วัสดุสำหรับผลิตกระเป๋าเกิดการขาดแคลน จนทำให้ช่างฝีมือของ Gucci ต้องขวนขวายเพื่อค้นหาวัสดุอื่น ๆ มาทดแทนในการผลิตกระเป๋า และก็ได้ค้นพบว่าสามารถใช้ไม้ไผ่ญี่ปุ่นในการสร้างกระเป๋ารูปแบบใหม่ที่ไม่เหมือนใครออกมาได้ โดยมีกรรมวิธีการผลิตและเก็บรักษาที่มีความพิถีพิถัน เริ่มต้นตั้งแต่การดัดไม้ไผ่ทีละน้อยด้วยไฟโดยที่ไม่มีสารเคมีเจือปน การเกลาไม้ไผ่ให้เรียบ การประทับตัวหนังสือสีทองบนกระเป๋าโดยใช้แผ่นทองคำ 24K พร้อมทั้งทำการจดสิทธิบัตรหูจับกระเป๋าแบบไม้ไผ่ ซึ่งในเวลาต่อมาหูจับแบบไม่ไผ่นี้ก็ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของกระเป๋า Gucci รวมไปถึงกระเป๋า Bamboo Bag ของ Gucci นั้น ก็กลายเป็นรุ่นที่ยังคงได้รับความนิยมอย่างมากจนถึงปัจจุบัน

            โดยสาเหตุที่ทำให้ Gucci ได้กลายเป็นที่กล่าวขานและเป็นที่รู้จักเพียงแค่ชั่วข้ามคืนก็เนื่องมาจากกระเป๋าไม้ไผ่ Bamboo Bag ได้ไปปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง “Viaggio in Italia” ซึ่งเป็นผลงานภาพยนตร์ของโรแบทโต้ โรเซลลินิ (Roberto Rossellini ) ในปี ค.ศ. 1954 นั่นจึงทำให้ทั้งสัญลักษณ์ GG และกระเป๋า Bamboo Bag กลายมาเป็นที่โปรดปรานของเหล่าบรรดาดาราฮอลลีวู้ดไปจนถึงราชวงศ์ยุโรปอย่างรวดเร็วตั้งแต่วันแรกที่ได้มีการเปิดสาขาที่อเมริกากันเลยทีเดียว ซึ่งนั่นก็ทำให้ Aldo Gucci ได้ชื่อว่าเป็นผู้บริหารบริษัทเครื่องหนัง “Made in Italy” แห่งแรกในสหรัฐอเมริกา และยังได้รับเกียรติจากประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี (John F Kennedy) มาเป็น Ambassador ให้กับแบรนด์เป็นท่านแรกอีกด้วย

Aldo Gucci ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัย The City University of New York และได้ทำการเปิดสาขาเพิ่มขึ้นที่ ชิคาโกปาล์มบีช และเบเวอร์ลี่ฮิลล์ จากนั้นก็ได้ขยายกิจการไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น โตเกียว ฮ่องกง และเมืองต่างๆ ทั่วโลกผ่านเครือข่ายแฟรนไชส์ระดับโลก เรียกได้ว่าเป็นเวลามากกว่า 30 ปีที่เขาได้ทุ่มเทให้กับการขยายตัวและพัฒนาของกุชชี่ จนทำให้บริษัทเป็นธุรกิจแบบครบวงจร ซึ่งก็มีทั้งโรงฟอกหนัง โรงงานผลิต และร้านค้าปลีกของตัวเอง อย่างเต็มรูปแบบ

ความขัดแย้งและปัญหาภายในตระกูล Gucci

            และเมื่อ Gucci เข้าสู่การดำเนินงานของทายาทรุ่นที่ 3 ลูกชายคนโตของ Aldo Gucci ชื่อว่า Paolo Gucci ก็ได้มีไอเดียและแนวทางธุรกิจที่เป็นของตนเองจึงได้ทำการแตกไลน์สินค้าโดยใช้ชื่อของตนเองว่า “Paolo Gucci Collection”ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่มีราคาไม่แพงเพื่อจับกลุ่มตลาดลูกค้าหนุ่มสาวที่ยังมีรายได้ไม่มากนัก รวมไปถึงมีแผนที่จะเปิดร้านใหม่เพิ่มขึ้นอีกแห่ง แต่ก็ถูกคัดค้านอย่างหนักเพราะแนวคิดนี้ทำให้ภาพลักษณ์ที่เป็นแบรนด์ระดับไฮเอนด์ของ Gucci เกิดความเสื่อมเสีย จนทำให้สถานการณ์ในตระกูล Gucci นั้นเกิดความตึงเครียด แต่ในท้ายที่สุดแล้ว Paolo ก็ดึงดันจนสามารถสร้างไลน์สินค้า PG ออกมาได้เป็นผลสำเร็จ แต่นั่นก็ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกของทั้งคู่ถึงขั้นแตกหักขนาดที่ว่า Paolo ถูกไล่ออกจากบริษัท และ Aldo ก็ได้สั่งห้ามไม่ให้ supplier ที่ทำธุรกิจกับ Gucci ทุกรายร่วมทำธุรกิจกับ Paolo เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่ความสัมพันธ์ภายในตระกูล Gucci อยู่ในภาวะที่ย่ำแย่เป็นอย่างมาก

และไม่เพียงเท่านี้เพราะในปี 1984 เพื่อแก้แค้นพ่อของเขา Paolo ก็ได้สั่งให้ Aldo ออกจากบริษัทด้วยความช่วยเหลือจากลูกพี่ลูกน้องซึ่งเป็นลูกของลุงที่ชื่อว่า Maurizio Gucci ที่เพิ่งได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ครึ่งหนึ่งจากการรับมรดกต่อมาจาก Rodolfo Gucci นอกจากนี้ Paolo ก็ยังได้แจ้งกรมสรรพากรเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงภาษีของผู้เป็นพ่อด้วย นั่นจึงทำให้ Aldo Gucci ในวัย 81 ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 1 ปี 1 วัน ในปี 1986 ในข้อหาเลี่ยงภาษี เขาต้องจ่ายภาษีย้อนหลังเป็นจำนวนเงิน 7 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 212 ล้านบาท

            ซึ่งเหตุการณ์ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นภายในตระกูลทำให้ Maurizio Gucci รู้สึกอึดอัดใจเป็นอย่างมาก จึงได้ทำการตัดสินใจยึดกิจการไว้เสียเองทั้งหมดโดยให้บริษัท อินเวสต์คอร์ป (Investcorp) เข้ามาดำเนินการซื้อหุ้นกิจการของ Gucci ที่เหลือจากญาติพี่น้องของเขาในปี ค.ศ. 1987 ซึ่ง Paolo ก็เป็นคนแรกในตระกูลที่ยอมขายหุ้นในมือ โดยที่ Aldo Gucci ก็ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเมื่อวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 1990 เมื่อมีอายุได้ 84 ปี และจากนั้นในอีก 5 ปีต่อมา Paolo ก็ได้ทำการยื่นฟ้องล้มละลายเนื่องจากการใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยและการตัดสินใจทางธุรกิจที่ไม่ดี และจากนั้นก็ได้เสียชีวิตลงด้วยเช่นกัน

Maurizio Gucci

            หลังจากที่สถานการณ์ในตระกูลคลี่คลายลงโดย Maurizio Gucci ที่ได้กู้คืนฟื้นฟูภาพลักษณ์และกิจการที่ย่ำแย่ของ Gucci กลับคืนมา ด้วยความร่วมมือของผู้ช่วยคนสำคัญอย่าง โดเมนิโก เดอ โซเล (Domenico De Sole) ดำรงตำแหน่งทนายความ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบรวมไปถึงดูแลกิจการของ Gucci ในอเมริกา นอกจากนี้ก็ยังมี ดอน เมลโล (Dawn Mello) ซึ่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของห้างสรรพสินค้าสุดหรู Bergdorf Goodman ซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองนิวยอร์ค เข้ามาดำรงตำแหน่ง Creative Director และยังได้มีการว่าจ้างให้ ทอม ฟอร์ด (Tom Ford) เข้ามารับตำแหน่งเป็น Junior Designer ซึ่งในช่วงแรกของการบริหารงานนั้นก็ประสบปัญหาในเรื่องของค่าใช้จ่ายจนทำให้บริษัทประสบปัญหาขาดทุน ถึงแม้ว่า Maurizio จะได้ทุ่มเงินสูงถึง 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อฟื้นฟูกิจการและปรับปรุงสำนักงานใหญ่ที่ตั้งอยู่ใน ฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี แต่ในช่วงปี ค.ศ. 1991-1993 บริษัทก็ยังมียอดขาดทุนรวมถึงกว่า 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จนในที่สุดทางบริษัท อินเวสต์คอร์ป ก็ได้กดดันให้ Maurizio Gucci ทำการขายหุ้นทั้งหมดให้กับบริษัท และทำการย้าย Domenico de Sole ให้ไปบริหารงานที่ฟลอเรนซ์ และเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1995 Maurizio Gucci ก็ได้ถูกลอบยิงเสียชีวิตที่บันไดด้านนอกสำนักงานที่มิลาน ประเทศอิตาลี ในขณะที่มีอายุเพียงแค่ 46 ปีเท่านั้น โดยผู้ที่อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารก็คือภรรยาเก่าของเขา Patrizia Reggiani สาเหตุจูงใจก็เนื่องมาจากความหึงหวง ความขุ่นเคืองต่ออดีตสามี รวมไปถึงเรื่องเงิน เพราะ Patrizia ต้องการที่จะมีส่วนร่วมในทรัพย์สินของ Gucci และป้องกันไม่ให้อดีตสามีไปแต่งงานกับคนรักใหม่อย่าง Paola Franchi เพราะนั่นจะทำให้ค่าเลี้ยงดูที่เธอได้รับลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง โดย Patrizia ถูกตัดสินโทษจำคุกในข้อหาฆ่าคนตาย โดยรับโทษอยู่เป็นเวลา 18 ปี และได้รับการปล่อยตัวออกมาในเดือนตุลาคมปี 2017

Domenico De Sole

            มาถึงในช่วงปี ค.ศ. 1994 เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่บริษัท Gucci ประสบปัญหาทางด้านการเงินเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นผลประกอบการที่ติดลบ การแบ่งรับภาระหนี้สินที่มากเพิ่มขึ้นทุกวัน ซึ่งนั่นก็ทำให้บรรดาซัพพลายเออร์ต่าง ๆ เริ่มขาดความเชื่อมั่นในตัวบริษัท เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่ โดเมนิโก เดอ โซเล ซึ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งในฐานะ CEO ของ Gucci ในขณะนั้น ต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมากในการเจรจากับบรรดาซัพพลายเออร์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าเขาสามารถทำให้บริษัท Gucci นั้นกลับมามีสภาพคล่องได้อีกครั้ง

            และในที่สุด ปี ค.ศ. 1999 บริษัท Gucci ก็ได้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง จากการที่บริษัท Pinault-Printemps-Redoute หรือกลุ่ม PPR ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารงานของ François Pinault ได้เข้ามาซื้อหุ้นของ Gucci จำนวน 42% ดอยคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งนั่นก็ทำให้ Gucci รอดพ้นจากการเทคโอเวอร์โดยบริษัทอื่น

ๆ ที่ไม่มีคุณภาพ นอกจากนี้เป็นการทำให้ Gucci รอดพ้นจากการถูกซื้อกิจการจากบริษัทอื่นๆ ที่ไม่มีคุณภาพ อีกทั้งก็ยังได้เข้าซื้อกิจการ Sanofi Beaute เจ้าของยี่ห้อ Yves Saint Laurant (YSL) แล้วทำการขายให้กับ Gucci ในอีกสองวันถัดมา ซึ่งนั่นก็ส่งผลให้ Gucci กลายเป็นบริษัทที่มีชื่อยี่ห้อสินค้าแบรนด์หรูหลากหลาย 

Gucci ในปัจจุบัน

            จากการซื้อหุ้นของ PPR ก็ได้ทำให้ Gucci กลายเป็นบริษัทที่สามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาล และมีแบรนด์สินค้าในระดับไฮเอนด์ อยู่มากมายไม่ว่าจะเป็น  Bottega Veneta ,Yves Saint Laurent รวมถึง Sergio Rossi, Stella McCartney และ Alexander McQueen ซึ่งต้องบอกว่าหลังจากฝ่าฟันมรสุมมาถึงกว่า 80 ปี แบรนด์ Gucci ในช่วงศตวรรษที่ 21 ก็ได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ภายใต้การบริหารงานของ PPR โดยในปี ค.ศ. 2017 ก็สามารถทำรายได้สูงถึง 4,200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยอยู่ที่ประมาณ 132,700 ล้านบาท ซึ่งนิตยสาร Forbes ของอเมริกา ก็ได้ทำการจัดอันดับให้แบรนด์ Gucci เป็นแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 47 ของโลก นอกจากนี้ก็ยังติดอันดับที่ 44 ในการจัดอันดับ World’s Most Valuable Brands ด้วยมูลค่าแบรนด์ที่สูงถึง 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

Marco Bizzarri

            โดยในปัจจุบัน Gucci ก็มี Marco Bizzarri เป็น CEO คนล่าสุด โดยได้มีการดึงตัว อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน (Alexander McQueen) ซึ่งเป็นอดีตดีไซเนอร์ฝีมือฉกาจจากแบรนด์ Givenchy เข้ามาร่วมงาน ซึ่งนั่นก็ทำให้แบรนด์ Gucci ที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของ Marco Bizzarri CEO คนล่าสุดในปัจจุบันนี้ เป็นแบรนด์ที่แสดงให้เห็นถึงภาพลักษณ์อันหรูหรา ผลิตภัณฑ์คุณภาพเยี่ยมที่รังสรรค์มาจากงานฝีมือด้วยความพิถีพิถันใส่ใจในทุกรายละเอียด การเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพสูง ดีไซน์และสัญลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งนั่นก็ยังคงทำให้แบรนด์ Gucci คือสัญลักษณ์แห่งความหรูหรา ความนำสมัยในด้านแฟชั่น และยังคงเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมในระดับโลกอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย  

Tags: No tags

Comments are closed.